วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อย่างนั้นหรือ

            
               นิทานที่ ๓ ชื่อเรื่อง  "Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่าอย่างไรมันก็คล้ายๆกับว่า  "อย่างนั้นหรือ?" นิทานที่สามนี้เล่าว่า ณ สำนักเซ็นของอาจารย์เฮ็กกูอิน  ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก  เป็นเหมือนกับว่าเป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน  ที่ร้านชำใกล้ๆวัดนั้น  มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเป็นลูกเจ้าของร้าน  ทีนี้โดยกระทันหันปรากฎว่ามีครรภ์ขึ้นมา  พ่อแม่เขาพยายามขยั้นขยอถาม  ลูกสาวก้อไม่บอกแต่เมื่อถูกบีบคั้นหนักเข้า  ก็ระบุชื่อ  ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน  เมื่อหญิงสาวคนนั้นระบุอาจารย์เฮ็กกูอินเป็นบิดาของเด็กที่อยู่ในครรภ์  พ่อแม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟไปที่วัด  แล้วก็ไปด่าท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน  ด้วยสำนวนโวหารของคนที่โกรธที่สุดที่จะด่าได้อย่างไร  ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด  นอกจากว่า Is that so? คือว่าอย่างนั้นหรือ  สองคนด่าจนเหนื่อย  ไม่มีเสียงจะด่า  ไม่มีแรงจะด่า! ก็กลับไปบ้านเอง  ทีนี้พวกชาวบ้านที่เคยเคารพนับถือ  ก็พากันไปด่า  ว่าเสียทีที่เคยเคารพนับถืออย่างนั้นอย่างนี้;  ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด  นอกจากว่า "Is that so?"  พวกเด็กๆก็ยังพากันไปด่าว่าพระบ้า  พระอะไร  สุดแท้แต่ที่จะด่าได้ตามภาษาเด็ก;  ท่านก็ว่า  "Is that so?"  ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
                  ต่อมา  เด็กคลอดออกมาจากครรภ์  บิดามารดาที่เป็นตายายของเด็กก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้อาจารย์เฮ็กกูอิน  ในฐานะเป็นการประชด  หรืออะไรก็สุดแท้  ว่า  "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้"  ท่านอาจารย์เฮ็กกูอินก็มีแต่  "Is that so?"  ตามเคย  ท่านรับเด็กไว้  และต้องหานมหาอาหารของเด็กอ่อนนั้น  จากบุคคลบางคนที่ยังเห็นอกเห็นใจท่านอาจารย์เฮ็กกูอินอยู่  พอเลี้ยงเด็กนั้นให้ให้รอดชีวิตเติบโตอยู่ได้  ทีนี้ต่อมานานเข้า  หญิงคนที่เป็นมารดาของเด็กเหลือที่จะทนได้  มันเหมือนกับไฟนรกเข้าไปสุมอยู่ในใจ  เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง  ฉะนั้นวันหนึ่งเขาจึงไปสารภาพบอกกับบิดามารดาของเขาว่า  บิดาที่แท้จริงของเด็กนั้นคือเจ้าหนุ่มที่ร้านขายปลา  ทีนี้บิดามารดาตายายคู่นั้น  ก็มีจิตใจเหมือนกับนรกเผาอยู่ข้างในอีกครั้งหนึ่ง  รีบวิ่งไปที่วัด  ไปขอโทษขอโพยต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน;  ขอแล้วขอเล่าๆ  เท่าที่จะรู้สึกว่าเขามีความผิดมากอย่างไร  ก็ขอกันมากมายอย่างนั้น;  ท่านก็ไม่มีอะไรนอกจาก "Is that so?" แล้วก็ขอหลานคนนั้นคืนไป  ต่อมาพวกชาวบ้านที่เคยไปด่าท่านอาจารย์ก็แห่กันไปขอโทษอีก  เพราะความจริงปรากฎเช่นนี้  ขอกันใหญ่ไม่รู้กี่สิบคน;  ขอกันนานเท่าไร  ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูดนอกจาก "Is that so?" อีกนั่นเอง  เรื่องของเขาจบเท่านี้
                    นิทานเรื่องนี้จะสอนว่าอย่างไร  เราถือว่านิทานชุดนี้  ก็เหมือนนิทานอีสปในทางวิญญาณ      ในทาง Spiritual point of view  นิทานเรื่องนี้สอนว่าอย่างไรดังนั้นหรือ  มันก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "นตถิ  โลเก  รโห  นาม" และ "นตถิ  โลเก  อนินทิโต"  "การไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก"  หรืออะไรทำนองนี้  แต่ท่านทั้งหลายลองเปรียบเทียบดูทีหรือว่า  ถ้าพวกครูบาอาจารย์ของเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน  ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม; คือจะ "Is that so?" คำเดียวอยู่ได้ไหม  ถ้าได้  เรื่องก็คงจะไม่เป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่คือคงจะไม่ถูกฟ้องว่าตีเด็กเกินควร  หรืออะไรทำนองนั้น  ค้องไปถึงศาลก็มี  อาตมาเคยเห็นครูที่บ้านนอก  ต้องไปพูดกันถึงโรงถึงศาลก็มี  เพราะตีเด็กเกินควรเป็นต้น;  นี่คือมันหวั่นไหวต่ออารมณ์มากเกินไป  จนกระทั่งเด็กเล็กๆ  ก็ทำให้โกรธได้  ที่เรื่องนิดเดียวทำให้โกรธได้นี้  เพราะว่าไม่ยึดถือความจริงเป็นหลักอยู่ในใจ  มันจึงไหวไปตามอารมณ์  โกรธมาก  กลัวมาก  เกลียดมาก  ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น  ทำไมไม่คิดว่า  มันไม่ใช่เรื่องราวอะไรมากมาย  มันไม่ใช่เป็นไปตามเสียงส่วนมากที่ยืนยันว่า  อันนั้นต้องเป็นอันนั้นจริง;  ความจริงมันต้องเป็นความจริง;  ถ้าจะมีอุเบกขา  ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้  ไม่ใช่อุเบกขาผิดอย่างอื่น;  ฉะนั้นเราควรจะฟังของเขาไว้.

:,มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม  นิทานเซ็น  เล่าโดย..ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม     


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น