วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเชื่อฟัง


              นิทานเรื่องที่ ๔  เรียกว่า  เรื่อง "ความเชื่อฟัง"  ธยานาจารย์  ชื่อเบ็งกะอี  เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเทศนาธรรม;  คนที่มาฟังท่านนั้น  ไม่ใช่เฉพาะแต่ในวงการเซ็น;  พวกนิกายอื่น  หรือคนสังคมอื่นก็มาฟังกัน;  ชนชั้นไหนๆก็มาฟัง  เพราะว่าท่านไม่ได้เอาถ้อยคำในพระคัมภีร์  หรือในหนังสือหรือในพระไตรปิฎกมาพูด  แต่ว่าคำพูดทุกคำนั้น  มันหลั่งไหลออกมาจากความรู้สึกในใจของท่านเองแท้ๆ  ผลมันจึงเกิดว่า  คนฟังเข้าใจหรือชอบใจ  แห่กันมาฟังจนทำให้วัดอื่นร่อยหรอคนฟัง  เป็นเหตุให้ภิกษุรูปหนึ่ง  ในนิกายนิชิเรน  โกรธมาก  คิดจะทำลายล้างอาจารย์เบ็งกะอีคนนี้อยู่เสมอ  วันหนึ่ง  ในขณะที่ท่านองค์นี้กำลังแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุม  พระที่เห็นแก่ตัวจัดองค์นั้นก็มาทีเดียว  หยุดยืนอยู่หน้าศาลาแล้วตะโกนว่า  เฮ้ย!  อาจารย์เซ็น  หยุดประเดี๋ยวก่อน  ฟังฉันก่อน  ใครก็ตามที่เคารพท่าน  จะต้องเชื่อฟังคำที่ท่านพูด;  แต่ว่าคนอย่างฉันนี้ไม่มีวันที่จะเคารพท่าน; ท่านจะทำอย่างไร  ที่จะทำให้ฉันเคารพเชื่อฟังท่านได้ เมื่อภิกษุอวดดีองค์นั้น  ร้องท้าไปตั้งแต่ชายคาริมศาลา  ท่านอาจารย์เบ็งกะอีก็ว่า  มาซี  ขึ้นมานี่  มายืนข้างๆฉันซี  แล้วฉันจะทำให้ดูว่า  จะทำอย่างไร  พระภิกษุนั้น  ก็ก้าวพรวดพราดขึ้นไปด้วยความทะนงใจ ฝ่าฝูงคนขึ้นไปยืนหราอยู่ข้างๆท่านอาจารย์เบ็งกะอี  ท่านอาจารย์เบ็งกะอีก็ว่า  ยังไม่เหมาะมายืนซ้ายดีกว่า  พระองค์นั้นก็ผลุนมาทีเดียว  มาอยู่ข้างซ้าย  ท่านอาจารย์ก็บอกอีกว่า  อ๋อ!  ถ้าจะพูดให้ถนัดต้องอย่างนี้  ต้องข้างขวา  พระองค์นั้นก็ผลุนมาทางขวา  พร้อมกับมีท่าทางผยองอย่างยิ่ง  พร้อมที่จะท้าทายอยู่เสมอ  ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงว่าเห็นไหมหล่ะ  ท่านกำลังเชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง  และในฐานะที่ท่านเชื่อฟังอย่างยิ่งแล้ว  ฉะนั้นท่านจงนั่งลงฟังเทศน์เถิด  นี่เรื่องก็จบลง
               นิทานอีสปเรื่องนี้  มันสอนว่าอย่างไร  เหมือนพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  นิวาโต  เอตมมงคลมุตตม  วาโต  ก็เหมือนกะสูบลมอัดเบ่งจนพอง;  ถ้านิวาโต  ก็คือไม่พองไม่ผยอง  เป็นมงคลอย่างยิ่ง  ข้อนี้ย่อมแสดงว่า  มีวิชาความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ  ยังต้องการไหวพริบ  และปฎิภาณอีกส่วนหนึ่ง;  พระองค์นี้ก็เก่งกาจของนิกายนิชิเรน  ในญี่ปุ่น  แต่มาพ่ายแพ้อาจารย์ที่แทบจะไม่รู้หนังสือ  เช่นนี้  ซึ่งพูดอะไรก็ไม่ขาดอะไรก็ลองคิดดู  พวกฝรั่งก็ยังพูดว่า  Be wish in time  ฉลาดให้ทันเวลาโดยกระทันหัน  ซึ่งบาลีก็มีว่า "ขโณ  มา  โว  อุปจจคา"  ขณะสำคัญเพียงนิดหนึ่ง  นิดเดียวเท่านั้น  อย่าได้ผ่านไปเสียนะ  ถ้าผ่านไปละก็แย่เลยทีเดียว  นี้เรียกว่ามันเป็นปฎิภาณ  ปฎิภาณที่ครูบาอาจารย์จะต้องมีอย่างยิ่ง  มิฉะนั้นจะควบคุมเด็กไม่อยู่  เราลองคิดดูซิว่า  เด็กๆของเรามีปฎิภาณเท่าไร  เราเองมีปฎิภาณเท่าไร  มันจะสู้กันได้ไหม;  ลองเทียบ I.Q. ในเรื่องนี้กันดู  ซึ่งเกี่ยวกับปฎิภาณนี้  ถ้าครูบาอาจารย์เรามี I.Q. ในปฎิภาณนี้ ๕ เท่าของเด็กๆ  คือเหนือเด็กห้าเท่าตัว  ก็ควรจะได้รับเงินเดือนห้าเท่าตัวของที่ควรจะได้รับ;  หรือว่าใครอยากจะเอาสักกี่เท่าก็เร่งเพิ่มมันขึ้น  ให้มีปฎิภาณไหวพริบ  จนสามารถสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องกรรม  เรื่องอนัตตา  เรื่องนิพพาน  ได้อย่างไรทีเดียว  นี่คือข้อที่จะต้องอาศัยปฎิภาณ  ซึ่งวันหลังก็คงจะได้พูดกันถึงเรื่องนี้บ้าง

:,มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม  นิทานเซ็น  เล่าโดย..ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม   

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อย่างนั้นหรือ

            
               นิทานที่ ๓ ชื่อเรื่อง  "Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่าอย่างไรมันก็คล้ายๆกับว่า  "อย่างนั้นหรือ?" นิทานที่สามนี้เล่าว่า ณ สำนักเซ็นของอาจารย์เฮ็กกูอิน  ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก  เป็นเหมือนกับว่าเป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน  ที่ร้านชำใกล้ๆวัดนั้น  มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเป็นลูกเจ้าของร้าน  ทีนี้โดยกระทันหันปรากฎว่ามีครรภ์ขึ้นมา  พ่อแม่เขาพยายามขยั้นขยอถาม  ลูกสาวก้อไม่บอกแต่เมื่อถูกบีบคั้นหนักเข้า  ก็ระบุชื่อ  ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน  เมื่อหญิงสาวคนนั้นระบุอาจารย์เฮ็กกูอินเป็นบิดาของเด็กที่อยู่ในครรภ์  พ่อแม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟไปที่วัด  แล้วก็ไปด่าท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน  ด้วยสำนวนโวหารของคนที่โกรธที่สุดที่จะด่าได้อย่างไร  ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด  นอกจากว่า Is that so? คือว่าอย่างนั้นหรือ  สองคนด่าจนเหนื่อย  ไม่มีเสียงจะด่า  ไม่มีแรงจะด่า! ก็กลับไปบ้านเอง  ทีนี้พวกชาวบ้านที่เคยเคารพนับถือ  ก็พากันไปด่า  ว่าเสียทีที่เคยเคารพนับถืออย่างนั้นอย่างนี้;  ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด  นอกจากว่า "Is that so?"  พวกเด็กๆก็ยังพากันไปด่าว่าพระบ้า  พระอะไร  สุดแท้แต่ที่จะด่าได้ตามภาษาเด็ก;  ท่านก็ว่า  "Is that so?"  ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
                  ต่อมา  เด็กคลอดออกมาจากครรภ์  บิดามารดาที่เป็นตายายของเด็กก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้อาจารย์เฮ็กกูอิน  ในฐานะเป็นการประชด  หรืออะไรก็สุดแท้  ว่า  "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้"  ท่านอาจารย์เฮ็กกูอินก็มีแต่  "Is that so?"  ตามเคย  ท่านรับเด็กไว้  และต้องหานมหาอาหารของเด็กอ่อนนั้น  จากบุคคลบางคนที่ยังเห็นอกเห็นใจท่านอาจารย์เฮ็กกูอินอยู่  พอเลี้ยงเด็กนั้นให้ให้รอดชีวิตเติบโตอยู่ได้  ทีนี้ต่อมานานเข้า  หญิงคนที่เป็นมารดาของเด็กเหลือที่จะทนได้  มันเหมือนกับไฟนรกเข้าไปสุมอยู่ในใจ  เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง  ฉะนั้นวันหนึ่งเขาจึงไปสารภาพบอกกับบิดามารดาของเขาว่า  บิดาที่แท้จริงของเด็กนั้นคือเจ้าหนุ่มที่ร้านขายปลา  ทีนี้บิดามารดาตายายคู่นั้น  ก็มีจิตใจเหมือนกับนรกเผาอยู่ข้างในอีกครั้งหนึ่ง  รีบวิ่งไปที่วัด  ไปขอโทษขอโพยต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน;  ขอแล้วขอเล่าๆ  เท่าที่จะรู้สึกว่าเขามีความผิดมากอย่างไร  ก็ขอกันมากมายอย่างนั้น;  ท่านก็ไม่มีอะไรนอกจาก "Is that so?" แล้วก็ขอหลานคนนั้นคืนไป  ต่อมาพวกชาวบ้านที่เคยไปด่าท่านอาจารย์ก็แห่กันไปขอโทษอีก  เพราะความจริงปรากฎเช่นนี้  ขอกันใหญ่ไม่รู้กี่สิบคน;  ขอกันนานเท่าไร  ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูดนอกจาก "Is that so?" อีกนั่นเอง  เรื่องของเขาจบเท่านี้
                    นิทานเรื่องนี้จะสอนว่าอย่างไร  เราถือว่านิทานชุดนี้  ก็เหมือนนิทานอีสปในทางวิญญาณ      ในทาง Spiritual point of view  นิทานเรื่องนี้สอนว่าอย่างไรดังนั้นหรือ  มันก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "นตถิ  โลเก  รโห  นาม" และ "นตถิ  โลเก  อนินทิโต"  "การไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก"  หรืออะไรทำนองนี้  แต่ท่านทั้งหลายลองเปรียบเทียบดูทีหรือว่า  ถ้าพวกครูบาอาจารย์ของเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน  ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม; คือจะ "Is that so?" คำเดียวอยู่ได้ไหม  ถ้าได้  เรื่องก็คงจะไม่เป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่คือคงจะไม่ถูกฟ้องว่าตีเด็กเกินควร  หรืออะไรทำนองนั้น  ค้องไปถึงศาลก็มี  อาตมาเคยเห็นครูที่บ้านนอก  ต้องไปพูดกันถึงโรงถึงศาลก็มี  เพราะตีเด็กเกินควรเป็นต้น;  นี่คือมันหวั่นไหวต่ออารมณ์มากเกินไป  จนกระทั่งเด็กเล็กๆ  ก็ทำให้โกรธได้  ที่เรื่องนิดเดียวทำให้โกรธได้นี้  เพราะว่าไม่ยึดถือความจริงเป็นหลักอยู่ในใจ  มันจึงไหวไปตามอารมณ์  โกรธมาก  กลัวมาก  เกลียดมาก  ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น  ทำไมไม่คิดว่า  มันไม่ใช่เรื่องราวอะไรมากมาย  มันไม่ใช่เป็นไปตามเสียงส่วนมากที่ยืนยันว่า  อันนั้นต้องเป็นอันนั้นจริง;  ความจริงมันต้องเป็นความจริง;  ถ้าจะมีอุเบกขา  ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้  ไม่ใช่อุเบกขาผิดอย่างอื่น;  ฉะนั้นเราควรจะฟังของเขาไว้.

:,มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม  นิทานเซ็น  เล่าโดย..ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม     


เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

      
         เรื่องที่ ๒  เรื่อง  "เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม"  อาตมาต้องขอใช้คำอย่างนี้  เพราะไม่ทราบว่าจะใช้คำอย่างไรดี  ที่จะให้รวดเร็วและสั้นๆท่านจะรู้สึกอย่างไรก้อตามใจที่จะต้องใช้คำอย่างนี้  "เพชรที่หาพบจากโคลนในถิ่นสลัม"  เรื่องนี้ก้อเล่าว่า  อาจารย์แห่งนิกายเซ็น  ชื่อ กูโด  เป็นอาจารย์ของจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น  ท่านอาจารย์องค์นี้ชอบเที่ยวไปไหนคนเดียวโดดๆอย่างนักบวชเร่ร่อนแบบปริพพาชก  ไม่ค่อยได้อยู่กับวัดวาอาราม  ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปยังตำบลอีโด  เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของท่านที่จะมีแก่คนอื่น  ท่านได้ผ่านตำบลๆหนึ่ง  เย็นวันนั้นฝนก็ตกมา  ท่านจึงเปียกปอนไปหมด  และรองเท้าของท่านที่ใช้  เป็นรองเท้าที่ทำด้วยฟาง  เพราะนักบวชนิกายเซ็นใช้รองเท้าฟางถักทั้งนั้น  เมื่อฝนตกตลอดวัน  รองเท้าก้อขาดยุ่ยไปหมด  ท่านจึงเหลียวดูว่า  จะมีอะไรที่ไหนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง  ก็พบกระท่อมน้อยๆแห่งหนึางในถิ่นใกล้ๆนั้น  เห็นรองเท้าฟางมีแขวนอยู่ด้วย  ก็คิดจะไปซื้อสักคู่นึง  เอาแห้งๆมาใส่เพื่อเดินทางต่อไป   หญิงเจ้าของบ้านนั้นเขาถวาย  เลยไม่ต้องซื้อ;  และเมื่อเห็นว่าเปียกปอนมาก  ก็เลยขอนิมนต์ให้หยุดอยู่ก่อน  เพราะฝนตกจนค่ำ  ท่านก็เลยต้องพักอยู่ที่บ้านนั้น  ด้วยคำขอร้องของหญิงเจ้าของบ้าน
         หญิงเจ้าของบ้านเรียกเด็กๆและญาติๆมาสนทนาด้วยท่านอาจารย์;  ท่านได้สังเกตเห็นว่า  สกุลนี้เป็นอยู่ด้วยความข้นแค้นที่สุด  ก็เลยขอร้องให้บอกเล่าตรงๆโดยไม่ต้องเกรงใจ  ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน  หญิงเจ้าของบ้านก้อบอกว่า  "สามีของดิฉันเป็นนักการพนัน  แล้วก็ดื่มจัด  ถ้าเผอิญเค้าชนะ  เขาก็จะดื่มมันจนไม่มีอะไรเหลือ  ถ้าเขาแพ้  เขาก็ยืมเงินคนอื่นเล่นอีก  เพิ่มหนี้สินให้มากยิ่งขึ้น  เขาไม่เคยมาบ้านเลย  เป็นวันเป็นคืน  หรือหลายวันหลายคืนก็ยังมี;  ดิฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี"
          ท่านอาจารย์กูโดว่า  ไม่ต้องทำหรอก  ฉันจะช่วยทำ  แล้วก็ว่า  นี่ฉันมีเงินมาบ้าง  ช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่นมาให้เหยือกใหญ่ๆเหยือกหนึ่ง  แล้วก็อะไรๆที่ดีๆที่น่ากินเอามาให้เป็นจำนวนเพียงพอ  เอามาวางที่นี่แล้วก็กลับไปทำงานตามเรื่องเถอะ  ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ตรงหน้าที่บูชา  ข้อนี้หมายความว่าบ้านนั้นก็มีหิ้งบูชาพระ  เมื่อผู้ชายคนนั้นกลับมาบ้าน  เวลาดึก  เขาก็เมา  เขาก็พูดตามประสาคนเมา  นี่คำนี้จะแปลว่ายังไง;  Hey! wife;  ก็ต้องแปลว่า  เมียโว้ย  มาบ้านแล้วโว้ย;  มีอะไรกินบ้างโว้ย  ตัวหนังสือเค้าเป็นอย่างนี้  ซึ่งมันก็เหมือนๆกับเมืองไทยเรานี้เอง  นี่ลองคิดดูว่าคนๆนี้จะเป็นอย่างไร;  ฉะนั้นกูโดท่านอาจารย์ที่นั่งที่หน้าหิ้งก็ออกรับหน้า  บอกว่า  ฉันได้มีทุกอย่างสำหรับท่านเผอิญฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่  ภรรยาของท่านเขาขอร้องให้ฉันพักค้างฝนที่นี่ตลอดคืนนี้  ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทนท่านบ้าง;  ฉะนั้นขอให้ท่านบริโภคสิ่งเหล่านี้ตามชอบใจ  ชายคนนั้นดีใจใหญ่;  มีทั้งเหล้าองุ่น  มีทั้งปลา  มีทั้งอาหารต่างๆ;  เขาก็ดื่มและรับประทานจนนอนหลับไปไม่รู้สึกตัว  อยู่ตรงข้างๆเข่าของท่านอาจารย์กูโด  ที่นั่งสมาธิ  ตลอดคืนนั้นเหมือนกัน  ทีนี้พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า  ชายคนนั้นก็ลืมหมดไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่;  และถามว่าท่านเป็นใคร  และจะไปข้างไหน  ท่านอาจารย์ก็ตอบว่า  อ๋อ! อาตมาคือกูโด  แห่งนครกโยโต (Kyoto เกียวโต);  กำลังจะไปธุระที่ตำบลอิโด;  ตามเรื่องที่ว่ามาแล้วเมื่อกี้นี้  ถ้อยคำอย่างนี้มันประหลาด  ที่ว่าบางครั้งก็มีอิทธิพลมากมาย  คือว่าชายคนนั้นละอายจนเหลือที่จะรู้ว่าจะอยู่ที่ไหน  จะแทรกแผ่นดินหนีไปที่ไหน  ก็ทำไม่ไหว  แทรกไปไม่ได้  มันละอายถึงขนาดอย่างนั้นแล้วก็ขอโทษขอโพย  ขอแล้วขออีกจนไม่รู้จะขออย่างไร  ต่ออาจารย์ของพระจักรพรรดิ  ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ที่บ้านเขา  ท่านกูโดก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย  แล้วก็พูดขึ้นช้าๆบอกว่า  "ทุกอย่างในชีวิตมันเปลี่ยนแปลงเรื่อย  เป็นกระแสไหลเชี่ยวไปทีเดียว;  และทั้งชีวิตนี้มันก้อสั้นเหลือเกินด้วย;  ถ้ายังเล่นการพนันและดื่มอยู่ดังนี้  ก็หมดเวลาที่จะทำอะไรอื่นให้เกิดขึ้นหรือสำเร็จได้;  นอกจากทำตัวเองให้เป็นทุกข์แล้ว  ก็จะทำให้ครอบครัวพลอยตกนรกทั้งเป็นกันไปด้วย"  ความรู้สึกอันนี้ได้ประทับใจนายคนนั้น  มีอาการเหมือนกับว่า  ตื่นขึ้นมาในโลกอื่น  เหมือนกับตื่นขึ้นมาจากความฝัน;  ในที่สุดก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า  ทีี่ท่านอาจารย์กล่าวนั้นมันถูกหมดเลย  มันถูกอย่างยิ่ง;  ถ้าอย่างไรก็ขอให้กระผมได้สนองพระคุณอาจารย์ในคำสอนที่ประเสริฐนี้  เพราะฉะนั้นขอให้กระผมออกติดตามท่านอาจารย์  ไปส่งท่านอาจารย์ในการเดินทางนี้  สักระยะหนึ่ง  ท่านอาจารย์กูโดก้อบอกว่าตามใจ  สองคนก็ออกเดินทางไปได้ประมาณ ๓ ไมล์  ท่านอาจารย์ก็บอกว่ากลับเถอะ;  นายคนนี้ก็บอกขออีกสัก ๕ ไมล์เถอะ;  ขยั้นขยอขอไปอีก ๕ ไมล์  แล้วก็ไปด้วยกันอีก  พอครบ ๕ ไมล์  อาจารย์ขยั้นขยอให้กลับอีก  ว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว;  นายคนนั้นก็บอกว่าขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ;  ในที่สุดก็ต้องยอม  พอถึง ๑๐ ไมล์ท่านอาจารย์ขยั้นขยอให้กลับ  เขาก็ว่าขอตลอดชีวิตของผมเถอะ;  นี่ก็เป็นอันว่า  ไปกับท่านอาจารย์  ไปเป็นนักบวชแห่งนิกายเซ็น  ซึ่งต่อมาก็เป็นปรมาจารย์พุทธศาสนาแห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น  นิกายเซ็นทุกสาขาที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่นในทุกวันนี้ออกมาจากอาจารย์องค์นี้องค์เดียวเท่านั้น  ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ที่สืบมาจากอาจารย์องค์นี้องค์เดียว  ท่านกลับตัวชนิดที่เราเรียกกันว่า  เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม  นี้เป็นอย่างไรบ้างก็ลองคิดดู  ในประเทศญี่ปุ่นนายกรัฐมนตรบางคนก็มาจากเด้กขายน้ำเต้าหู้;  หาบเต้าหู้ขายจนมีสตางค์  จนไปเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์;  จากเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์  ก็เป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆสั้นๆ;  และเขื่องขึ้นๆจนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและไปเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่งในที่สุด  นี่เราจะบอกเด็กๆตาดำๆ  ของเราว่า  สิ่งต่างๆนั้นเปลี่ยนแปลงได้ถึงอย่างนี้กันสักทีจะได้ไหม  เด็กๆเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรในฐานะของเขา  เขาจะทำตัวให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม"  ได้อย่างไร  โดยมากเขามักจะขายตนเองเสียถูกๆ  จนเป็นเหตุให้เขาวกไปหาความสุขทางเนื้อทางหนังต่ำๆเตี้ยๆไม่น่าดูนั้น  ก็เพราะว่าเขาเป็นคนที่ไม่เคารพตัวเอง  ท้อถอยต่อการที่จะคิดว่ามันจะเป็นได้มากอย่างนี้
           พระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสว่า  เกิดมาเป็นคนนี่ไม่ควรให้ตัวเอง;  "อตตาน น ทเทยยโปโส"  แปลว่า  เป็นลูกผู้ชาย  เป็นบุรุษ  ไม่ควรให้ซึ่งตน  ให้ซึ่งตนนี้  หมายความว่ายกตนให้เสียแก่กิเลสหรือธรรมชาติฝ่ายต่ำ  มันก็ไม่ได้คิดที่จะมีอะไรที่ใหญ่โตมั่นคง  ที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ให้จริงจังได้  ข้อนี้เรียกว่าเราควรจะถือเป็นหลักจริยธรรมข้อหนึ่งด้วยเหมือนกัน

:,มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม  นิทานเซ็น  เล่าโดย..ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม   

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

น้ำชาล้นถ้วย


     เรื่องที่หนึ่ง  ซึ่งไม่อยากจะเว้นเสียทั้งที่เคยเอ่ยถึงแล้วในวันก่อน คือ เรื่องน้ำชาล้นถ้วย; คือว่าอาจารย์แห่งนิกายเซ็น  ชื่อ น่ำอิน  เป็นผู้มีชื่อเสียงทั่วประเทศ  และโปรเพสเซอร์คนหนึ่ง  เป็นโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศไปหาอาจารย์น่ำอิน  เพื่อขอศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเซ็น  ในการต้อนรับ  ท่านอาจารย์น่ำอินได้รินน้ำชาลงในถ้วย  รินจนล้นแล้วล้นอีก;  โปรเฟสเซอร์มองดูด้วยความฉงน  ทนดูไม่ได้ก้อพูดโพล่งออกไปว่า  "ท่านจะใส่มันลงไปได้ยังไร"  ประโยคนี้มันก้อแสดงว่าโมโห  ท่านอาจารย์น่ำอินก้อตอบว่า  "  ถึงท่านก้อเหมือนกันอาตมาจะใส่อะไรลงไปได้อย่างไร  เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย  opinions และ speculations ของท่านเอง";  คือว่าเต็มไปด้วยความคิดความเห็นตามความยึดมั่นถือมั่นของท่านเอง  และมีวิธีคิดนึกคำนวณตามแบบของท่านเอง  สองอย่างนี้แหล่ะมันทำให้เข้าใจพุทธศาสนาอย่าง  เซ็น  ไม่ได้  เรียกว่า  ถ้วยน้ำชามันล้น
         ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย  จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิดเรื่องอะไรล้น  อะไรไม่ล้น  ได้อย่างไร  ขอให้ช่วยกันหาหนทาง  ในครั้งโบราณ  ในอรรถกถาได้เคยกระแหนะกระแหนถึงพวกพราหมณ์ที่เป็นทิศาปาโมกข์  ต้องเอาเหล็กมาตีเป็นเข็มกลัด  คาดท้องไว้เนื่องค้วยกลัวท้องจะแตก  เพราะวิชาล้น;  นี้จะเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างไรก้อลองคิดดู  พวกเราอาจล้น  หรืออัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น  จนอะไรใส่ลงไปอีกไม่ได้;  หรือความล้นนั้นมันออกมาอาละวาดเอาบุคคลอื่นอยู่บ่อยๆบ้างกระมัง  แต่เราคิดดูก็จะเห็นได้ว่า  ส่วนที่ล้นนั้นคงจะเป็นส่วนที่ใช้ไม่ได้;  จะจริงหรือไม่ก็ลองคิด  ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น  ก็คงเป็นส่วนที่ใช้ไม่ได้  ส่วนที่ร่างกายรับเอาไว้ได้ก็คงเป็นส่วนที่มีประโยชน์;  ฉะนั้นจริยธรรมแท้ๆไม่มีวันจะล้น  โปรดนึกดูว่าจริยธรรมหรือธรรมะแท้ๆนั้นมีอาการล้นได้ไหม  ถ้าล้นไม่ได้ก้อหมายความว่าสิ่งที่ล้นนั้น  มันก็ไม่ใช่จริยธรรม  ไม่ใช่ธรรมะ;  ล้นออกไปเสียให้หมดก็ดีเหมือนกัน  หรือถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึก  ก็ว่า  จิตแท้ๆไม่มีวันล้น  อ้ายที่ล้นนั้นมันเป็นของปรุงแต่งจิต  ไม่ใช่ตัวจิตแท้  มันล้นได้มากมาย  แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจิตแท้คืออะไร;  อะไรควรเป็นจิตแท้  และอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ใช่จิตแท้  คือเป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง  ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย  นี่แหละรีบค้นหาให้พบสิ่งที่เรียกว่าจิตจริงๆ  กันเสียสักทีก็ดูเหมือนจะดี
                ในที่สุดท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูง  ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่าจิตเดิมแท้  ซึ่งข้อนั้นได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง  จิตที่ประกอบด้วยสภาวะแห่งความว่างจาก  "ตัวกู-ของกู"  นั้นแหละคือจิตแท้  ถ้าว่างแล้วมันจะเอาอะไรล้น  นี่เพราะเนื่องจากไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร  จึงบ่นกันแต่เรื่องล้น  การศึกษาก็ถูกบ่นว่าล้น  คือส่วนที่เกิน  คือเกินความต้องการ  ไม่ต้องเอามาใส่ใจ  ไม่ต้องเอามาสนใจ  เขาคิดว่าเขาไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนาหรือธรรมะเลย  เขาก็เกิดมาได้  พ่อแม่ก็มีเงินให้  เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน  เรียนเสร็จแล้วก็ทำราชการเป็นใหญ่เป็นโตได้  โดยไม่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาเลย  ฉะนั้นเขาเขี่ยศาสนา  หรือธรรมะออกไปในฐานะเป็นส่วนล้น  คือไม่จำเป็น  นี่แหละเขาจัดส่วนล้นให้แก่ศาสนาอย่างนี้  คนชนิดนี้จะต้องอยู่ในลักษณะที่ล้นเหมือนโปรเฟสเซอร์คนนั้น  ที่อาจารย์น่ำอินจะต้องรินน้ำชาใส่หน้า  หรือว่ารินน้ำชาให้ดู  โดยทำนองนี้ทั้งนั้น  เขามีความเข้าใจผิดล้น;  ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม;  มันล้นออกมาให้เห็นเป็นรูปของมิจฉาทิฎฐิ  เพราะเขาเห็นว่าเขามีอะไรๆของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว  ส่วนที่เป็นธรรมะ  เป็นจริยธรรมนี่เข้าไม่จุอีกต่อไป  ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า  นี้แหละคือมูลเหตุที่ทำให้จริยธรรมรวนเร  และพังทลาย  ถ้าเรามีหน้าที่ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว  จะต้องสนใจเรื่องนี้

:,มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม  นิทานเซ็น  เล่าโดย..ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม